วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

เทวทาสี หรือ โสเภณีเทพเจ้า


เทวทาสี ถ้าจะเรียกในภาษาทั่วไปในปัจจุบันก็อาจเรียกว่า โสเภณีทางศาสนา (religious prostitute) หรือบางทีก็เรียกโสเภณีของเทพเจ้า (prostitute of gods) 

พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมก็มีกล่าวถึง "เทวทาส" (โสเภณีเพศชาย) และ "เทวทาสี" (เพศหญิง) ไว้ย้อนหลังกลับไปได้ถึงราว 3,000 กว่าปี ว่า "..ผู้หญิงชาวอิสราเอลนั้น อย่าให้คนหนึ่งคนใดเป็นเทวทาสี อย่าให้บุตรชายอิสราเอลคนหนึ่งคนใดเป็นเทวทาส ท่านอย่านำค่าจ้างของเทวทาสี หรือค่าจ้างจากหมา มาในวิหารของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน เป็นเงินแก้บนอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะสิ่งทั้งสองนี้ เป็นสิ่งพึงรังเกียจแด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน" (เฉลยธรรมบัญญัติ 23:17-18)

คำว่า เทวทาส และ เทวทาสี หรือจะเรียกว่า ทาสของเทพเจ้าที่่มีทั้งชายหรือหญิง ก็ได้ หมายถึง ชายหรือหญิงผู้ให้การร่วมประเวณีในพิธีศาสนาแก่ผู้มาทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้า แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นหญิงจะมีมากกว่า

ธรรมเนียมในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ในความเชื่อโบราณนั้น เชื่อว่า การที่คนจะมาบวงสรวงบูชาเทพเจ้า หรือจะขออะไรจากเทพเจ้านั้น ต้องทำให้เทพเจ้าพอใจ หรือสนใจมาดู จึงจะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งวิธีการก็มีหลายแบบ

อันปกติทั่วไป คือใช้การเซ่นไหว้ด้วยอาหาร หรือเผาสิ่งต่างๆรวมทั้งเครื่องหอมให้เป็นควันลอยขึ้นไปให้เทพเจ้าได้รับหรือได้รู้ ที่ควบคู่กันไปก็คือ ใช้การร่ายรำโดยอิสตรีที่สวยงาม และมักต้องใช้หญิงสาวพรหมจารีย์ด้วย เพราะมักจะเชื่อกันว่าเทพเจ้าก็คงชอบอะไรแบบนั้น

แต่ถ้าอยากให้ขลังขึ้นต่อมาคือ ใช้การร่วมเพศกับเทวทาสหรือเทวทาสีนี่เอง เชื่อว่าอันนี้จะเรียกร้องความสนใจจากเทพเจ้าให้อยากก้มลงมาดูมากขึ้น ทีนี้จะขออะไรก็จะได้ดังประสงค์ นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น อาจใช้ความรุนแรง อย่างการเชือดเนื้อกรีดเลือด มีทั้งการใช้สัตว์บูชายัญ แต่ถ้าจะให้ขลังขึ้นก็ต้องเป็นเชือดเนื้อกรีดเลือดมนุษย์

พระคัมภีร์ตอนที่ว่านี้เขียนขึ้นมานมนานหลายพันปีแล้ว ระบุให้ชัดก็คือเขียนในวัฒนธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ ย้อนไปไกลถึงสามพันปีก่อนคริสตศักราช แสดงว่าธรรมเนียมปฏิบัติอันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล และค้นพบว่ามีในหลายวัฒนธรรมหลายศาสนาในหลายดินแดนของโลกด้วย ตั้งแต่ศาสนาเทพเจ้าโบราณทางเมโสเปเตเมีย ศาสนาเทพเจ้ากรีก-โรมัน มาจนถึงศาสนาฮินดู ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตายไปหรือสูญหายไปหมดแล้ว อิทธิพลของศาสนายิวและคริสต์ มีผลต่อการดับสูญของวัฒนธรรมประเพณีอย่างมาก

แต่เหลือเชื่อว่า ธรรมเนียมอันนี้ยังมีคนเชื่อและปฏิบัติอยู่ในศาสนาฮินดูบางกลุ่มในประเทศอินเดีย แม้จนทุกวันนี้

อาจารย์อุเทน วงศ์สถิตย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยปูเน่ ประเทศอินเดีย ได้อธิบายถึงความเป็นมาของเรื่องเทวทาสีในศาสนาฮินดู ซึ่งก็สามารถช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการแนวคิดเรื่องเทวทาสีในศาสนาโบราณอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

อาจารย์บอกว่า เรื่องเทวทาสีของฮินดูเริ่มจากความเลื่อมใสศรัทธาต่อเทพเจ้า กลัวว่าเทพท่านจะเหงา ก็เลยจัดหาความบันเทิงให้เทพเจ้า แรกๆ ก็คือการร่ายรำ หน้าที่ของเทวทาสียุคเริ่มแรกคือ รำถวายเทพเจ้า ว่าไปก็คงเหมือนละครแก้บนนั่นเอง

ต่อมาเมื่อผู้มีอำนาจอย่างพระราชา มีศรัทธามากเข้า จึงซื้อทาสถวายเทพเจ้า ให้รำถวายประจำที่เทวสถาน ซึ่งก็คงเป็นทาสสตรีเป็นหลัก ยิ่งในรายของกษัตริย์ที่มีอำนาจมาก ก็จะถวายเทวทาสีให้เป็นจำนวนมาก เช่น บางองค์ถวายเทวทาสีคราวละนับ 100 คน ซึ่งนี่ก็ทำให้บางวัดมีเทวทาสีนับพันคนหรือหลายพันคน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเชื่อกันว่า วัดก็คือวังของเทพเจ้า ต้องมีนางทาสีมากๆไว้รับใช้

แรงศรัทธาในเรื่องนี้ แม้แต่พระราชาบางคนถึงขนาดถวายพระธิดาของตนเป็นเทวทาสีก็ยังเคยมี ในธรรมเนียมกรีก กษัตริย์ก็มีการถวายพระธิดาเป็นเทวทาสีเช่นกัน

ดังนั้น สมัยก่อนเทวทาสีจึงเป็นหน้าที่ที่สูงส่ง มีหน้าที่เล่าเรียนการร่ายรำในท่าต่างๆ ระบำอินเดียในปัจจุบัน ก็สืบทอดกันทางเทวทาสีพวกนี้

แต่กระนั้น ความรุ่งเรืองมักคู่กับความร่วงโรย เมื่อวัดใหญ่มีเทวทาสีได้มากเพราะว่าได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ ครั้นเกิดสงคราม กษัตริย์หมดงบประมาณเกื้อหนุน บรรดาเทวทาสีก็เลยจำเป็นต้องจัดบริการเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงตัว โดยเริ่มจากเมื่อบางคนมาเห็นนางร่ายรำแล้วเกิดอารมณ์ จึงเกิดการเจรจาและตกลงกันได้ด้วยการจ่ายเป็นเงิน ด้วยเหตุนี้การร่ายรำสมัยหลังๆของเหล่าเทวทาสี จึงมีการเพิ่มท่าทางที่ยั่วยวนเข้าไป เพื่อหาลูกค้า

ต่อมาจากปัญหาที่ผู้หญิงต้องขอผู้ชาย ถ้าไม่แต่งงานก็ไม่ได้รับเกียรติ จึงมีพวกหัวใส ผลักภาระลูกสาวของตนถวายเป็นเทวทาสี เพื่อให้แต่งกับเทพเจ้า การกระทำเช่นนี้ถือกันว่าพวกนางมีเกียรติ และไม่มีวันเป็นม่าย เพราะนางแต่งงานกับเทพเจ้าเพียงสามีเดียว แม้จะนอนกับผู้ชายทั้งหมู่บ้านก็ตาม

สถานที่ให้บริการของเหล่าเทวทาสีนั้น ก็จะอยู่ในเทวสถานหรือบริเวณใกล้ๆกับเทวสถาน

นอกจากนี้ แม้ว่า เทวทาสีจะยังถูกผู้คนมองว่าเป็นโสเภณีประเภทหนึ่ง แต่ก็เป็นโสเภณีที่ดูจะมีศักดิ์ศรีกว่าโสเภณีธรรมดา การให้ความเคารพต่อเทวทาสีของคนทั่วไปไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เช่น ไม่ต้องแต่งตัววาบหวิวเหมือนโสเภณีทั่วไป เทวทาสีของเจ้าแม่บางองค์นั้น ในบางเทศกาลมีการบูชาพวกนางเหมือนอวตารของเทวีเลยทีเดียว แล้วถ้าควายของพวกชาวบ้านออกลูก พวกเขาก็จะเอานมควายที่ได้ครั้งแรกหลังจากการออกลูกมาให้เทวทาสี เพื่อเป็นการขอบคุณเจ้าแม่

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเทศกาลไหว้เจ้าแม่บางองค์ ชาวบ้านก็จะพากันซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆถวายเทวทาสี และเมื่อถวายเสร็จชาวบ้านจะเอามือมาแตะที่เท้าเทวทาสี เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ในฐานะลูกสาวของเจ้าแม่

นอกจากนั้นเวลามีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้าน เธอจะได้รับเชิญไปประกอบพิธี ชาวบ้านจะขอส่าหรีเก่าๆ ไปทำเปลเด็ก เพื่อได้รับการคุ้มครองจากเจ้าแม่ เวลามีงานแต่ง ชาวบ้านก็จะเชิญเทวทาสีไปประกอบพิธีสวมสร้อยแต่งงานให้ เพื่อจะได้มีอายุยืนยาว และไม่เป็นม่าย

แต่ถึงกระนั้นเทวทาสีก็ยังนับว่าลำบาก ไม่ได้เป็นอาชีพที่ร่ำรวย ถ้าแก่หรือไม่สวยคนก็จะไม่ค่อยใช้บริการ จะเลิกก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อแม่ ทั้งยังรู้สึกว่าตนมีหน้าที่ต้องรับใช้เทพเจ้าอย่างซื่อสัตย์ด้วย

ทุกวันนี้อินเดียมีกฎหมายห้ามถวายเทวทาสีกับเทวสถาน แต่ก็ยังมีการแอบปฏิบัติกัน ทำให้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเทวสถานใหญ่ๆและอยู่ห่างไกลออกไปในชนบท อย่างทางอินเดียใต้ และยังพบเป็นหลายหมื่นคน

หากมองในทางสังคมวิทยา เทวทาสี หรือโสเภณีของเทพเจ้านี้ ไม่ได้เกิดจากความศรัทธาทางศาสนาเท่านั้น

แต่เป็นผลมาจากปัญหาทางวัฒนธรรมเรื่องการแต่งงาน การมีลูกผู้หญิง

...และปัญหาความยากจนด้วย


(ภาพเทวทาสีที่ยังมีอยู่ในอินเดียในปัจจุบัน มีทุกวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงชรา)

------
โดย ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ October 3, 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น