วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

ผู้ดีอังกฤษ กลายเป็นอดีตไปแล้ว


ดอน ลูกตาปี หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2555 
ตั้งแต่เมื่อนายดอน ลูกตาปี ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้น สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ประเทศใหญ่ในยุโรป ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศศิวิไลซ์ วัฒนธรรมสูงส่ง ที่นานาประเทศปรารถนาถือเป็นแบบอย่าง เช่นเดียวกันคนอังกฤษได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ดีมีมารยาทงาม กล่าวกันง่ายๆ ว่าคนอังกฤษทำอะไรก็ดูดีไปหมด ตั้งแต่การแต่งกายตามแบบฉบับคนอังกฤษ กิริยามารยาท การพูดการจา การรับประทานอาหาร  ฯลฯ คนอังกฤษจะว่ากล่าวตำหนิผู้อื่นที่ทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าด่าคนอื่น จะใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม ไม่หยาบระคายหู แต่ก็แฝงความหมายที่เจ็บแสบถ้าตั้งใจฟังดีๆ   คนอังกฤษปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ มีมารยาทของผู้ดี
  

เกือบ 50 ปีมาแล้ว มีหนังใหญ่ของฮอลลีวู้ดได้รับรางวัลตุ๊กตาทองหลายตัว เรื่อง My Fair Lady เข้ามาฉายในเมืองไทย   มีดาราใหญ่ระดับซูเปอร์ของสมัยแสดงนำในหนังเรื่องนี้โดย  Rex Harrison ดาราฝ่ายชาย แสดงคู่กับ Audrey Hepburn   ดาราฝ่ายหญิง เป็นหนังที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตตามแบบฉบับของคนอังกฤษ คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ทำให้ชอบคนอังกฤษ อยากไปเที่ยวอังกฤษ มีความรู้สึกที่ดีและเข้าใจความหมายของคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ" อยากสอนลูกสอนหลานให้ทำตัวเป็นคนมีมารยาทเหมือนคนอังกฤษ
กาลเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สังคมและคนอังกฤษแปรเปลี่ยนไปจากเดิม ค่านิยมและความรู้สึกต่อคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ" ของคนทั่วโลกก็คงเปลี่ยนไปเช่นกัน ทุกวันนี้คนอังกฤษตามเมืองใหญ่ๆ เช่นในลอนดอน, แมนเชสเตอร์, เบอร์มิงแฮม, ลิเวอร์พูล เป็นอาทิ ผู้คนอังกฤษในเมืองใหญ่ที่กล่าวมานี้ ไม่ค่อยจะมีระเบียบเรียบร้อย ผู้คนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดตามฟุตบาททางเดิน ตามลานที่พักผู้โดยสารสถานีรถไฟ และตามสถานที่สาธารณะทั่วไป พูดได้ว่าสิ่งที่ได้ไปพบเห็นเป็นคนละเรื่องกับที่ได้ยินได้ฟังมาถึงความเรียบร้อยและมีมารยาทของคนอังกฤษ
ตามชานที่พักผู้โดยสารสถานีรถไฟในเมืองใหญ่ๆ ช่วงเช้าตรู่ ชายอังกฤษในวัยหนุ่มทำงานนั่งอาเจียนเลอะพื้นไปหมด  เนื่องจากดื่มสุราหนักจากหัวค่ำจนถึงดึก เช้าขึ้นพยายามพยุงตัวไปทำงานให้ทันเวลา ทั้งที่ไม่อยู่ในสภาพ ช่วงเวลาค่ำคืนก็เหมือนกัน สภาพแบบเดียวกันมีปรากฏให้เห็นเป็นที่ชินตา    ผู้ชายชาวอังกฤษเดี๋ยวนี้นิยมดื่มสุราจนเมามาย ขึ้นรถโดยสารประจำทาง เมาแล้วทำกิริยาไม่เหมาะสมบนรถโดยเฉพาะกับสตรี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
ปัญหาสังคมอย่างหนึ่งของอังกฤษในเวลานี้คือ สตรีวัยรุ่นอังกฤษจำนวนมากตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควร ตามศูนย์การค้าต่างๆ พบเห็นคุณแม่วัยใสเอาลูกตัวน้อยนั่งรถเข็นสำหรับเด็กเล็กเดินเที่ยวตามศูนย์การค้าเยอะไปหมด สตรีวัยรุ่นอังกฤษมีลูกเกิดมาได้รับสวัสดิการค่าเลี้ยงดูลูกจากรัฐบาล ทำให้คุณแม่วัยรุ่นเหล่านี้พอใจที่จะรับเงินสวัสดิการค่าเลี้ยงดูลูกจากรัฐ  มากกว่าการวางแผนครอบครัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อังกฤษมีสตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์และมีลูกก่อนวัยอันควรมากกว่าชาติอื่นในยุโรปด้วยกัน
ที่หนักไปกว่านั้นคือ ปัญหาอาชญากรรม ขโมยลักทรัพย์  ที่เพิ่มจำนวนอย่างน่าเป็นห่วง เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีเหตุการณ์คนอังกฤษทำทีให้ความช่วยเหลือคนต่างชาติจากเอเชียที่ถูกคนอังกฤษอีกกลุ่มหนึ่งรุมทำร้าย แต่กลับกระทำซ้ำเติมโดยจัดการลอกคราบคนต่างชาติจากเอเชียที่เคราะห์ร้าย เรื่องนี้ฉาวโฉ่มาก จนทำให้นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แถลงตำหนิการ กระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง พร้อมทั้งกล่าวว่า "สังคมอังกฤษกำลังมีปัญหา"
คงจำกันได้ดีว่าไม่ถึงปีมานี้ ภาพข่าวทางโทรทัศน์รายงานแพร่หลายไปทั่วโลก วัยรุ่นอังกฤษก่อการจลาจล จุดไฟเผาร้านค้าแถวชานเมืองลอนดอน จากนั้นบุกเข้าไปหยิบฉวยสินค้าของมีค่าในร้าน ตำรวจปราบจลาจลอังกฤษต้องนำกองกำลังเข้าไปสกัดกั้น แต่กลุ่มผู้ก่อการจลาจลไม่หวาดหวั่น เอาก้อนหิน ขวดน้ำ ขว้างปาใส่ตำรวจอย่างอุตลุด อย่างไม่น่าเชื่อต่อสายตา ก็ไม่รู้ว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ก่อการจลาจลที่นั่น เลียนแบบเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองของคนบางกลุ่มที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปีกลายนี้หรือเปล่าไม่ทราบ
จากลักษณะและพฤติกรรมของคนอังกฤษที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมของกาลเวลาที่ผ่านไป ค่านิยมและความรู้สึกของคนทั่วโลกที่มีต่อคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ" จึงเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เวลานี้ประเทศอังกฤษเองก็กำลังประสบปัญหารุมล้อมหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างเช่นปัญหาเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องจากรัฐบาลขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก อังกฤษถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศยูโรโซน แต่ก็อยู่ในสภาพบักโกรกไม่แพ้ชาติยุโรปอื่น
เห็นทีหนังใหญ่ฮอลลีวู้ดเรื่อง My Fair Lady คงเป็นตำนานของอดีต เหลือแต่ความทรงจำของคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ".

ที่มาของ "ผู้ดีอังกฤษ" ในความคิดแบบไทยๆ... ซึ่งคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ไว้น่าสนใจทีเดียว

                        "ที่คนไทยชอบพูดถึง "ผู้ดีอังกฤษ" นั้น จึงไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษสุภาพกว่าคนชาติอื่น หากน่าจะหมายความว่าเคร่งครัดกับมารยาททางสังคม (ซึ่งเนื้อแท้ก็เหมือนๆ กับของชาติตะวันตกอื่นๆ) มากกว่า เพราะมารยาทเหล่านี้ให้ความหมายถึงสถานภาพทางสังคมที่สูงไปพร้อมกัน"

          "ตรงนี้แหละครับที่ทำให้มารยาทของสุภาพบุรุษอังกฤษประทับใจคนไทยที่มีการศึกษามากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะมันสวยงามหรือเพราะเรามีนักเรียนอังกฤษมากกว่ายุโรปอื่นหรอกครับ แต่เพราะว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่เน้นสถานภาพทางสังคมสูงเหมือนกับอังกฤษ การมีมารยาท "ฝรั่ง" ในเมืองไทยแสดงถึงการ "เพาะพันธุ์" มาดี"

นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1380
โดยไม่ต้องส่องกระจก ผมก็รู้ว่าตัวเองดูทรุดโทรม เพราะความชราลงไปแค่ไหน เพราะผู้หญิงมักลุกขึ้นให้ผมนั่งบนรถไฟฟ้าเสมอ
แต่เพราะโตมาในสมัยที่หน้าที่นี้เป็นของผู้ชายต่างหาก ผมจึงรับความเอื้อเฟื้อของเธอๆ ไม่ลง หลังจากขอบอกขอบใจแล้ว ผมมักโกหกว่าผมจะลงใกล้ๆ นี้เอง แล้วเบียดคนหนีไปอยู่ไกลๆ เธอ เพื่อไม่ให้เธอรู้สึกอาย
ผมยังไม่เคยกล้าอวยชัยให้พรตามการขอบคุณ เพราะดูจะแก่เกินแกงไป
ก็น่าประหลาดอยู่นะครับ เท่าที่นึกออก ยังไม่เคยมีผู้ชายคนไหนในกรุงเทพฯ ที่ลุกขึ้นให้ผมนั่งเลย ฉะนั้นจึงไม่มีโอกาสได้นั่งสักที
ผมออกจะสงสัยเสียแล้วว่า ผู้ชายผู้หญิงกรุงเทพฯ มองเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างกัน ผู้ชายยังหัวโบราณมากกว่า จึงลุกให้ผู้ชายด้วยกันนั่งไม่ได้ ยกเว้นแต่แก่จนงกเงิ่น ในขณะที่ผู้หญิงเห็นว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนที่ "อ่อนแอ" กว่า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ควรกระทำทั้งนั้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หญิงและชายกรุงเทพฯ มีความคิดต่อความ "อ่อนแอ" ต่างกัน ความ "อ่อนแอ" ของผู้หญิงไม่เกี่ยวกับเพศ ในขณะที่ความ "อ่อนแอ" ของผู้ชายยังผูกติดกับเพศอยู่
เป็นธรรมดาอยู่เองนะครับที่ผู้หญิงย่อม "ก้าวหน้า" เร็วในเรื่องของสิทธิสตรีซึ่งเป็นกระแสในเวลานี้ ผมจำได้ว่าเมื่อไปอเมริกาแรกๆ เกือบ 40 ปีมาแล้ว ตอนนั้นกระแสสตรีนิยมยังเพิ่งเริ่มแพร่หลาย ผมใช้ธรรมเนียมกรุงเทพฯ ลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ ปรากฏว่าเธอขอบใจ และบอกไม่ แล้วก็ไม่สนใจอะไรอีก
เพื่อนผู้ชายอเมริกันบอกว่า ผู้หญิงที่นั่งและไม่นั่งมีสัก 50/50 ฉะนั้น ผู้ชายก็ลังเลใจที่จะลุกให้นั่ง หรือตัดสินใจไม่ลุกไม่เลิ้กกันเลย
ธรรมเนียมการลุกให้ผู้หญิงนั่งก่อนนั้น มาจากทัศนคติว่าผู้หญิงคือเพศ "อ่อนแอ" การยอมรับที่นั่งจึงเท่ากับยอมรับว่าเพศของตัว "อ่อนแอ" นั่นเอง
ทัศนคติว่าผู้หญิงคือเพศ "อ่อนแอ" คือกลวิธีสำคัญของการกดขี่ผู้หญิง แม้จะยกย่องให้เกียรติ, เอื้อเฟื้อ, แสดงความเคารพ เหมือนเธอจุติมาจากสวรรค์ก็ตาม แต่ก็เพื่อตอกย้ำว่าพื้นที่ของผู้หญิง คือพื้นที่ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การปกป้อง ดูแลของผู้ชาย หลุดจากพื้นที่นี้ออกมาเมื่อไหร่ เธอก็จะเป็นอันตราย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม โดยเฉพาะพื้นที่แห่งอำนาจมีภัยต่อเพศของเธออย่างที่สุด
แหะๆ แค่ลุกให้นั่ง แต่อย่าหือ เราก็สบายไป ใช่ไหมครับ
คนไทยมักเรียกมารยาทที่ผู้ชายพึงปฏิบัติต่อผู้หญิงเหล่านี้ว่า "ผู้ดีอังกฤษ" แต่ในความจริงแล้ว เป็นมารยาทที่แพร่หลายในยุโรปตะวันตกทั่วไป ไม่เฉพาะอังกฤษ หรือว่ากันที่จริงแล้ว คนที่มีส่วนในการสถาปนามารยาทเหล่านี้ เป็นฝรั่งเศสมากกว่าอังกฤษด้วยซ้ำ เพราะอังกฤษในสมัยโบราณเป็นแค่บ้านนอกของยุโรป
แต่การที่เรียกว่า "อังกฤษ" นั้น ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะสะท้อนอะไรบางอย่างที่คล้ายกันระหว่างสังคมอังกฤษและไทย
มารยาทระหว่างเพศของไทยโบราณเป็นอย่างไร ผมอยากบอกว่าผมไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ศึกษา จึงขอพูดเฉพาะที่ได้พบเห็นมาเมื่อเป็นเด็กซึ่งมีโอกาสเติบโตในบ้านนอก
ผมรู้สึกว่าสถานะของหญิงต่ำกว่าชายนั้นเห็นได้ชัดในมารยาทไทยนะครับ เมียชาวนาจะไม่เดินนำหน้าผัว แต่มักเดินตามหลังเสมอ ซ้ำยังทิ้งระยะห่างไว้แยะเสียด้วย เขาว่าแม้แต่เมียที่เพิ่งแต่ง ยังไม่เดินตามหลังใกล้นักด้วยซ้ำ ฉะนั้น เห็นหนุ่มสาวเดินตามกันบนคันนา เขาก็บอกได้เลยว่าแต่งกันมานานหรือยัง
ผู้หญิงทางเหนือจะไม่นั่งหน้าในการฟังเทศน์ หรือทำบุญที่วัด มักอธิบายกันว่ากลัวพระเห็นนม (แม้กระนั้นผู้หญิง ก็สึกพระมาแต่โบราณ ก่อนจะสึกได้สำเร็จก็ต้องไปนั่งคุยกับพระอย่างประจันหน้ามาก่อน) แต่จะอธิบายอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า การฟังเทศน์ที่วัดคือพื้นที่สาธารณะ และในพื้นที่อย่างนี้ผู้หญิงจะไม่ออกหน้า อย่างเดียวกับเดินบนคันนา ซึ่งคนอื่นรู้เห็นหรือเป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน
ในบ้านเรือนขุนนาง เมียมักไม่ได้กินข้าวกับท่านเจ้าคุณ ยกสำรับไปตั้งโตกให้เจ้าคุณกินคนเดียว แล้วเมียจึงกินทีหลัง บางครั้งก็กินในครัว เหตุผลนั้นผมเดาว่า ก็เพราะอาจมีแขกเหรื่อมาพบเจ้าคุณตอนกินอาหาร บ้านเรือนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ เมียจึงไม่ควรตีเสมอกินร่วมโตกกับท่าน
แต่ในทางตรงกันข้าม ในการทำนานั้น ผู้หญิงไม่ไถนาเพราะต้องใช้แรงมาก - อย่างน้อยก็ต้องทนเท่าควายไถไปหยุดไป โดยควายยังไม่ทันเหนื่อยย่อมเสียเวลาเปล่า - ผู้หญิงช่วยงานในนาเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ต้องแรงและทนเท่าไถนาได้หมด
ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องผู้หญิงเป็นเพศ "อ่อนแอ" ก็ตาม เป็น "ดอกไม้" ที่ต้องทะนุถนอมก็ตาม ไม่ได้มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยแต่เดิมมา และล้วนรับมาจากฝรั่งในภายหลังทั้งสิ้น
ชาย-หญิงแตกต่างกันอย่างไรในความคิดของไทยโบราณ ชีววิทยาล้วนๆ เลยครับ เพราะ "ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร" เท่านั้น
ผมไม่ได้บอกนะครับว่ามีความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในวัฒนธรรมไทยแต่เดิม ในทัศนะของเขา ช้างเท้าหลังต่ำกว่าเท้าหน้าไม่ใช่เรื่องควรหรือไม่ควร แต่ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น (เขาจึงไม่ได้เปรียบกับเท้าหมาไง)
แนวคิดว่าผู้หญิงคือเพศ "อ่อนแอ" ของฝรั่ง รวมทั้งการปฏิบัติตนต่อผู้อ่อนแอนั้น เกิดขึ้นกับพวกอัศวินก่อน และเมื่อเริ่มเกิดขึ้นในตอนแรกก็ผูกพันกับศาสนา อัศวิน "สุภาพบุรุษ" คือคนที่อาสาไปรบราฆ่าฟัน เพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของพระผู้เป็นเจ้า ต่อมาจึงค่อยๆ ขยายไปสู่การปกป้องคุ้มครองผู้อ่อนแอ ซึ่งแน่นอนย่อมรวมผู้หญิงด้วย
นิทานผจญภัยของอัศวินซึ่งแพร่หลายมาแต่สมัยนั้นจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของอัศวิน "สุภาพบุรุษ" ซึ่งรบกับมังกร กับยักษ์มาร กับคนชั่วต่างๆ เพื่อปกป้องสาวสวยซึ่งคอยโยนผ้าเช็ดหน้าหรือดอกไม้ให้อัศวินบนหอคอยปราสาท
แล้วอัศวินกับสาวสวยก็รักกันโดยอัศวินไม่ได้ล่วงละเมิดอะไรสาวสวยเลย ประหนึ่งอัศวินทุกคนมีดาบอยู่เล่มเดียว ที่ห้อยอยู่นอกพุงเท่านั้น กลายเป็นต้นแบบของความรักที่งดงาม, โรแมนติค และเยี่ยงสุภาพบุรุษ ฯลฯ
ซึ่งเราได้ดูทางทีวีจนจะอ้วกในทุกวันนี้

และจากบัญญัติอัศวิน หรือ Code of Chivalry นี้ก็ย่อมพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เช่นเปิดประตูรถยนต์ให้สาวสวยลงหรือขึ้น ไปจนถึงลุกขึ้นยืนต้อนรับเมื่อแขกรายใหม่ที่เป็นหญิงเดินเข้ามาในงานปาร์ตี้
ต้องสังเกตด้วยนะครับว่า นับตั้งแต่แรกบัญญัตินี้ก็ไม่ได้ใช้บังคับชาวนาหรือทาสติดที่ดิน ยังไงมึงก็ไม่มีทางจะเป็นสุภาพบุรุษอยู่แล้ว แต่เป็นบัญญัติมารยาทของชนชั้นสูงนับตั้งแต่อัศวินที่ต้องรบจริงขึ้นไปเท่านั้น
เป็นอีกส่วนที่ย้ำความแตกต่างทางชนชั้น ไม่นับอภิสิทธิ์อื่นๆ เช่นม้า, อาวุธ หรือศาลอัศวิน เพราะสังคมยุโรปก่อนสมัยใหม่เป็นสังคมที่มีลำดับขั้นทางสังคมที่ชัดเจนแน่นอนตายตัว
การมีมารยาทของ "สุภาพบุรุษ" จึงสมควรทำ เพราะความเป็นสุภาพบุรุษหมายถึง การประกาศกำเนิด-สังกัดชนชั้นที่สูงไปพร้อมกัน (well-bred ในภาษาอังกฤษ หากแปลตามตัวคือ เพาะพันธุ์มาดีไม่ใช่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี) พูดสำนวนไทยคือสำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

แต่เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ เมื่อสังคมแบบนั้นเริ่มสลายลง บัญญัติมารยาทอัศวินก็ค่อยๆ ปรับให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น เช่นเน้นความแตกต่างทางชนชั้นน้อยลง หรือความภักดีต่อนายเหนือหัวซึ่งครั้งหนึ่งถือเป็นมารยาทของอัศวิน สุภาพบุรุษก็ถูกลดความสำคัญลง เพราะราชาธิราชหรือรัฐชาติเข้ามาแย่งความภักดีนั้นไปแทน เป็นต้น
การรู้จักยืนตรงเคารพธงชาติจึงเป็นมารยาทที่ดูมี "อารยธรรม" กว่า ในขณะที่การหักหลังนายก็ดูไม่ค่อยหยาบคายเท่าไรแล้ว
พลังของสังคมเสมอภาคเป็นพลังสำคัญที่สุดในการทำให้บัญญัติของอัศวินถูกแปรให้กลายเป็นมารยาทของสุภาพชน โดยมีนัยยะถึงกำเนิด-สังกัดชนชั้นที่สูงน้อยลง เป็นมารยาททางสังคมซึ่งใครๆ เขาก็ทำกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเคร่งครัดก็เริ่มจางลงไปด้วยเป็นธรรมดา สังคมเสมอภาคอย่างมากเช่นสังคมอเมริกันนั้น มารยาทเหล่านี้แทบจะกลายเป็นเรื่องลี้ลับสำหรับให้ผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญเขียนหนังสือหากิน หรือเปิดโรงเรียนสอนได้
แต่มนตร์ของ "สุภาพบุรุษ" ซึ่งหมายถึงกำเนิด-สังกัดชนชั้นที่สูงยังมีในอังกฤษมากกว่าสังคมตะวันตกทั่วไป ทั้งนี้ เพราะอังกฤษเป็นสังคมประชาธิปไตยเดียวที่รักษาลำดับขั้นทางสังคมไว้ในวิถีชีวิตมากกว่าสังคมอื่น โคตรเหง้าคุณเป็นใครนั้นมีความสำคัญในอังกฤษมากกว่าในฝรั่งเศส, อเมริกา, สแกนดิเนเวีย หรือเยอรมันอย่างมาก
เบอร์นาร์ด ชอว์ บอกว่า เมื่อคนอังกฤษเอ่ยปากอะไรออกมาคำเดียว ก็จะถูกคนอังกฤษด้วยกันประเมินแล้วว่า คุณมาจากชนชั้นไหน "เพาะพันธุ์" มาดีหรือเปล่า
จึงไม่เหลือ "ผู้ดี" ที่ไหนในยุโรปอีกนอกจากอังกฤษ แต่เป็น "ผู้ดี" คนละความหมายกับที่สอนใน สมบัติผู้ดี นะครับ หากเป็น "ผู้ดี" ที่ตรงข้ามกับ "ไพร่"
ที่คนไทยชอบพูดถึง "ผู้ดีอังกฤษ" นั้น จึงไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษสุภาพกว่าคนชาติอื่น หากน่าจะหมายความว่าเคร่งครัดกับมารยาททางสังคม (ซึ่งเนื้อแท้ก็เหมือนๆ กับของชาติตะวันตกอื่นๆ) มากกว่า เพราะมารยาทเหล่านี้ให้ความหมายถึงสถานภาพทางสังคมที่สูงไปพร้อมกัน
(ในความเป็นจริง ผมเองออกจะสงสัยด้วยซ้ำว่า บนเกาะอังกฤษนั้นจะมี "กุ๊ย" มากกว่าทุกประเทศในยุโรปตะวันตกด้วยกัน)
ตรงนี้แหละครับที่ทำให้มารยาทของสุภาพบุรุษอังกฤษประทับใจคนไทยที่มีการศึกษามากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะมันสวยงามหรือเพราะเรามีนักเรียนอังกฤษมากกว่ายุโรปอื่นหรอกครับ แต่เพราะว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่เน้นสถานภาพทางสังคมสูงเหมือนกับอังกฤษ การมีมารยาท "ฝรั่ง" ในเมืองไทยแสดงถึงการ "เพาะพันธุ์" มาดีอย่างแน่นอน
ไม่งั้นจะไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เล็ก หรือคบหาสมาคมกับฝรั่งใกล้ชิดถึงกับรู้และรับมารยาทเขามาได้อย่างไร
ความเป็น "ผู้ดีอังกฤษ" สอดคล้องกับการเดินเข้าสู่ความทันสมัยของไทยพอดี 
คือเปลี่ยนโฉมหน้าให้เหมือนฝรั่ง แต่รักษาเนื้อแท้ของสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับขั้นที่เข้าถึงทรัพยากรและสิทธิต่างกันเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
เครื่องยศแบบโบราณทั้งหลายเลิกใช้หมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเยียรบับ, สัปทน, คานหาม, หีบหมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนพ่ายแพ้ต่ออำนาจของตลาด มีเงินเสียอย่างก็ซื้อหามาใช้ได้ แต่หันมาใช้เครื่องยศแบบใหม่คือมารยาทของ "ผู้ดีอังกฤษ" แทน ซึ่งเป็นเครื่องยศที่แนบเนียนกว่ากันมาก และไม่มีขายในท้องตลาด
"ผู้ดี" จริงหรือไม่จริง ไม่ใช่ดูกันที่รถเบนซ์ แต่ดูกันที่วิธีเปิดปิดประตูรถ และวิธีประคองสาวออกมาจากรถเบนซ์ต่างหาก

     ในปัจจุบัน สำนักข่าว BBC รายงานว่าประเทศอังกฤษแบ่งชนชั้นของคนในยุคใหม่มีถึง 7 ชนชั้น.....
                      สังคมอังกฤษ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นสังคมที่ยึดติดกับชนชั้นวรรณะมากที่สุดสังคมหนึ่ง ในอดีตผู้คนในสังคมเคยมีแค่ 3 ชนชั้น แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการจัดแบ่งคนอังกฤษใหม่ ออกเป็น 7 ชนชั้น โดยใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ใช่แค่ฐานะ อาชีพ และการศึกษาอีกต่อไป


สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา ส่งผลต่อการแบ่งชนชั้นของคนอังกฤษ สังคมที่ในอดีต เรียกได้ว่ายึดติดกับเรื่องชนชั้นวรรณะอย่างมากสังคมหนึ่งในโลก พิสูจน์ได้จากผลการสำรวจของห้องแล็บบีบีซีครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้พลิกโฉมคำนิยามของคำว่า "ชนชั้นของอังกฤษ" ไปอย่างสิ้นเชิง

จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษ 16000 คนทั่วประเทศ พบว่า สังคมอังกฤษยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ 3 ชนชั้นอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป ไม่ใช่แค่ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่แบ่งได้ถึง 7 ชนชั้น อีกทั้งตัวชี้วัดที่ใช้ในการแบ่งชนชั้นก็มีมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่เรื่องอาชีพ ฐานะ และการศึกษา กลายเป็นว่า ต้องเอาเรื่องของต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมาประกอบการพิจารณาด้วย หรือพูดง่ายๆ คนอังกฤษถูกแบ่งตามฐานเงินเดือน เงินเก็บในธนาคาร ราคาบ้านที่ซื้อ กิจกรรมยามว่าง ความมีหน้ามีตาในสังคม หรือแม้แต่อาชีพของเพื่อนที่แต่ละคนคบหาสมาคม

7 ชนชั้นที่ว่านี้ มีคนที่อยู่ในชนชั้นเดิมของตัวเองเพียงร้อยละ 39 ส่วนที่เหลือถูกแบ่งออกมาจาก 3 ชนชั้นดั้งเดิมนั่นเอง

ชนชั้นที่ 1 เรียกว่า Elite หรือผู้ลากมากดี มีทุกอย่างเพียบพร้อม ทั้งเงินทองและชื่อเสียงในสังคม

ชนชั้นที่ 2  Established middle class หรือ ชนชั้นกลางแต่กำเนิด มีฐานะรวยรองลงมา และชอบเข้าสังคมเป็นที่สุด ทำให้มีหน้ามีตาในสังคมอย่างมาก ถือเป็นกลุ่มคนที่มีมากที่สุด ประมาณร้อยละ 25

ชนชั้นที่ 3  Technical middle class หรือ ชนชั้นกลางแค่ในนาม ที่เรียกเช่นนี้ เพราะเป็นผู้มีอันจะกิน ต่างกันตรงที่ไม่ค่อยชอบออกงานสังคม และไม่แคร์สื่อ จึงทำให้มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่า

ส่วน 2 ชนชั้นหลังจากนี้เคยเป็นแรงงานชั้นต่ำของสังคม แต่ทุกวันนี้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ เราเรียกกลุ่มแรกว่า New affluent workers หรือแรงงานรุ่นใหม่ คนพวกนี้อายุยังน้อย แต่ทำงานได้เงินเยอะ ทั้งยังชอบเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก

ขณะที่ชนชั้นที่ 5 เรียกว่า Traditional working class หรือ ชนชั้นแรงงานดั้งเดิม ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 66 ปี หรือเรียกว่าเกษียณแล้ว คนเหล่านี้เคยมีต้นทุนต่ำในทุกด้าน รายได้น้อย การศึกษาต่ำ ไร้ชื่อเสียง แต่ด้วยความที่ทำงานมาทั้งชีวิต จึงมีกำลังมากพอที่จะซื้อบ้านราคาแพงๆได้

แตกต่างจากคนชนชั้นที่ 6 ที่เรียกว่า Emergent service workers คนกลุ่มนี้อยู่ในแวดวงงานรับใช้บริการลูกค้า มีรายได้ต่ำ แม้จะจน แต่พวกเขาจะได้เจอผู้คนมากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคมสูง  ส่วนคนชนชั้นสุดท้ายก็คือคนที่ยากจนที่สุดในสังคม เคยยากจนอย่างไรในอดีต ก็ยังยากจนอยู่เช่นนั้น แต่มีจำนวนถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ

นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ พยายามวิเคราะห์ผลการสำรวจนี้ ก่อนจะพบว่า ช่องว่างระหว่างคนที่รวยที่สุดและจนที่สุดก็ยังมีอยู่ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจ ชนชั้นแรงงานพยายามถีบตัวเองขึ้นมา จนมีฐานะร่ำรวยและมีชื่อเสียง แทบไม่ต่างจากชนชั้นสูงอีกต่อไป นี่จึงถือเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของสังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 21  ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด
by Paparorn 4 เมษายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น